ประวัติทุเรียนหลงลับแล หลินลับแลอุตรดิตถ์


ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์
 (Uttaradit Long Lab-Lae Durian)

ประวัติความเป็นมา :
       ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ต้นเดิมขึ้นอยู่บนม่อนน้ำจำ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2479 ซึ่งนายมี หอมตัน ได้นำเมล็ดทุเรียนที่ร่วงหล่นภายในสวนของเพื่อนบ้านไปปลูก ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2485 สวนของ นายมี หอมตัน ได้เปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของนายสม อุปละ ซึ่งเป็นสามีของนางหลง อุปละ โดยมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ นายมี หอมตัน ปลูกไว้อยู่ในสวนประมาณสิบกว่าต้น มีผลทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองต้นหนึ่ง มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นเมืองโดยทั่วไป คือเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดีเมล็ดลีบ จึงเรียกทุเรียนต้นนี้ว่า “ทุเรียนเมล็ดตาย” หรือเรียกอีกชื่อว่า “ต้นหัวห้วยในเหลืองสัญญา” เพราะทุเรียนต้นนี้อยู่ริมลำห้วย และเนื้อสีเหลืองค่อนข้างจัด
       ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดประกวดทุเรียนที่ปลูกจากเมล็ดขึ้นที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อคัดเลือกและหาทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี มีการส่งผลทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเข้าประกวดในนาม นางหลง อุปละ ปรากฏว่าได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2521 คณะกรรมการรับรองพันธุ์ได้เห็นชอบและตั้งชื่อทุเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นของ นางหลง อุปละ ให้เป็นทุเรียนพันธุ์ใหม่มีชื่อว่า “หลงลับแล” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นางหลง อุปละ ต่อมาเกษตรอำเภอลับแลในขณะนั้นได้แนะนำให้เกษตรกรในอำเภอลับแล นำยอดทุเรียนพันธุ์หลงลับแลต้นเดิมมาขยายพันธุ์ โดยวิธีการเสียบยอดได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก

นางหลง อุปละ

นิยาม :
       ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ (Uttaradit Long Lab – Lae Durian) หมายถึง ทุเรียนพันธ์หลงลับแลที่มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ที่ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์



ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์
 (Uttaradit Lin Lab-Lae Durian)

ประวัติความเป็นมา :
       ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล (ผามูบ) ต้นเดิมปลูกโดย นายหลิน ปันลาด ณ บ้านผามูบ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้นำเมล็ดทุเรียนมาปลูกแล้วได้ทุเรียนต้นใหม่ที่มีลักษณะผลทุเรียนแปลกกว่าทุเรียนต้นอื่น ๆ จึงได้นำไปให้เพื่อนบ้านกิน หลายคนบอกว่ารสชาติดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้ส่งทุเรียนพันธุ์นี้เข้าประกวด ซึ่งจัดโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยทุเรียนพันธุ์หลินลับแลได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และเพื่อเป็นเกียรติแก่นายหลิน ปันลาด จึงเรียกชื่อทุเรียนพันธุ์นี้ว่า “หลินลับแล” และประกอบกับต้นเดิมขึ้นอยู่บ้านผามูบ จึงมีชื่อว่า ผามูบ หลังจากนายหลิน ปันลาด ถึงแก่กรรม ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลต้นเดิม จึงอยู่ในความครอบครองของนายสว่าง ปันลาด ซึ่งเป็นบุตรชาย ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลต้นเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2543 อายุประมาณ 50 ปี ลำต้นสูง 15 เมตร เส้นรอบวงลำต้น 2.13 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 13 เมตร ซึ่งก่อนที่ต้นทุเรียนพันธุ์หลินลับแลต้นแรกจะตาย เกษตรกรในอำเภอลับแลได้นำยอดทุเรียนมาขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด และขยายพันธุ์ต่อกันมา กิ่งพันธุ์ต้องมาจากอำเภอลับแลเท่านั้นเพราะเป็นกิ่งพันธุ์ที่มาจากต้นกำเนิดเดิมที่เป็นต้นทุเรียนพันธุ์หลินลับแลอุตรดิตถ์แท้

นายหลิน ปันลาด


นิยาม :
       ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ (Uttaradit Lin Lab – Lae Durian) หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลที่มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ มีเมล็ดลีบเล็ก ที่ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา ของจังหวัดอุตรดิตถ์

Pages